ความภาคภูมิใจ ที่ได้ทำโครงการโรงเรียนรักษาศีล 5 โรงเรียนสันป่าตอง(สุวรรณราษฎร์วิทยาคาร)

25 เมษายน 2563 16:35 น.


 

 

     “อันว่าศีล  ๕  เป็นการสำคัญของมนุษย์  เมื่อทุกคนมีศีล  ๕  ด้วยกัน  สังคมนั้นๆ  คือประชาชนย่อมอยู่เย็นเป็นสุข  เมื่อเป็นไปได้  ขอให้ชื่อหมู่บ้านนั้นว่า  “หมู่บ้านรักษาศีล  ๕  ”  ศีล  ๕  เป็นหลักประกันสังคมได้เป็นอย่างดี  หากหมู่บ้านใดนำไปปฏิบัติได้  จะเกิดความสงบสุข  และจะส่งเสริมให้ประเทศเกิดความสงบสุข  ไม่ต้องทุกข์เดือดร้อน”  โอวาทสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์               

     โรงเรียนสันป่าดอง(สุวรรณราษฎร์วิทยาคาร)  ตั้งอยู่เลขที่ ๕๑๖  หมู่ที่  ๑๐  ตำบลยุหว่า  อำเภอสันป่าตอง  จังหวัดเชียงใหม่  เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่  เปิดสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงชั้นประถมศึกษาปีที่  ๖  ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด  ๑,๒๐๐ กว่า  คน  ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนรักษาศีล  ๕  เชิงคุณภาพ  ครอบครัวอบอุ่น   โดยได้รับความเมตตาให้คำแนะนำจาก  พระสมุห์จำเริญ  จนทูปโม  เลขานุการเจ้าคณะอำเภอแม่วาง  จังหวัดเชียงใหม่  และพระครูสุตภัทรกิตติ์  กิตติภัทโท  ดร.  เจ้าอาวาสวัดร้องสร้าน ตั้งแต่ภาคเรียนที่  ๑  ปีการศึกษา  ๒๕๖๑  จนถึงภาคเรียนที่  ๒  ปีการศึกษา  ๒๕๖๒  จำนวน  ๔  ภาคเรียนและผ่านการประเมินในระดับ  ๕  ดาวทุกภาคเรียน     

     

     จากการที่ผู้บริหาร  คณะครู บุคลากรทางการศึกษา  และนักเรียน ร้อยละ  ๙๐ กว่า ของโรงเรียนเป็นพุทธศาสนิกชน มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้วทำให้การดำเนินงานตามโครงการโรงเรียนรักษาศีล  ๕ เชิงคุณภาพครอบครัวอบอุ่นเป็นไปด้วยดี อีกทั้งยังมีความสอดคล้องกับปรัชญาของโรงเรียนที่ว่า  “เรียนดี  มีคุณธรรม   รักความสะอาด” ทางโรงเรียนได้ดำเนินโครงการแบบการบูรณาการกับโครงการต่างๆ อย่างกลมกลืนตามความเหมาะสม เช่นโครงการวันสำคัญ  โครงการโรงเรียนคุณธรรมขับเคลื่อนด้วยพลัง บ-ว-ร  และโครงการประชาธิปไตยในโรงเรียน  โดยความร่วมมือของทุกฝ่ายแบบกัลยาณมิตรภายใต้สโลแกนที่พวกเรามักพูดกันเสมอว่า”ครอบครัว สวร.” ความหมายคือการร่วมมือร่วมใจกันทำงานตามแผน และเป้าหมายที่วางไว้  มีการปรึกษาหารือ ติชม
ให้อภัย  และยอมรับปรับปรุงงานตลอดเวลา เปรียบเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ให้ความรักความห่วงใย และทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีงามให้กับลูกศิษย์ 
เพราะพวกเราถือว่า แบบอย่างที่ดีมีค่ายิ่งกว่าคำสอน 

      ๗  กิจวัตรความดี นวัตกรรมของโครงการนับว่ามีความสำคัญที่ทางโรงเรียนได้นำมาฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาให้นักเรียนเป็นผู้ที่คิดดี  พูดดี ทำดี  และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขโดยได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง ช่วยสานต่อ กระตุ้นเตือนให้นักเรียนปฏิบัติเมื่ออยู่บ้าน  อีกทั้งยังได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์ที่คอยเสริมเพิ่มเติมการปฏิบัติที่ถูกต้องในทางธรรม  ซึ่งทุกฝ่ายได้ใช้เทคนิค วิธีการที่แยบยลและเหมาะสมเพื่อไม่ให้นักเรียนเข้าใจว่าถูกบังคับให้ทำ และทำด้วยจิตสำนึกของตนเอง มีการใช้แรงเสริมทางบวก เช่นการชมเชย  การกล่าวชื่นชมในที่สารธารณะ  การให้รางวัลเพื่อให้นักเรียนที่ทำดีเกิดกำลังใจ  มีความภาคภูมิใจในการกระทำความดีของตนเองและอยากที่จะทำความดีต่อไป รวมทั้งเป็นตัวอย่างและแรงจูงใจให้กับเพื่อนๆอีกด้วย

     จากความร่วมมือของหลายฝ่ายทำให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติความดีอย่างสม่ำเสมอจนเกิดเป็นนิสัยที่ดีที่เกิดขึ้นในตัวของนักเรียนเป็นส่วนมากจนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีทั้งกันตัวนักเรียน  ครู  และโรงเรียน  พอกล่าวได้โดยสังเขปดังนี้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับนักเรียน        จากการร่วมวงเสวนาของคณะครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีในตัวนักเรียนได้แก่  ความมีระเบียบวินัย  ความรับผิดชอบ  การรู้จักคิดวิเคราะห์  กล้าแสดงออก  ความอดทนให้อภัย  รู้จักการทำงานเป็นทีม และมีจิตอาสา 

 

ผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนในรอบปีที่ผ่านมาที่เห็นเป็นเชิงประจักษ์ คือ

-ผลการโอเน็ตของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ปีการศึกษา ๒๕๖๒  สูงกว่าระดับชาติทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้

-นักเรียนได้รับคัดเลือกจากโครงการยุวทูตความดี กระทรวงต่างประเทศ ให้ไปศึกษาดูงานและเผยแพร่วัฒนธรรมไทยยังประเทศบรูไน  และประเทศสิงคโปร์  ๒ ปีซ้อน

-นักเรียนชนะเลิศการพูด “การเปลี่ยนแปลงของชีวิตก่อนและหลังปฏิบัติ ๗ กิจวัตรความดี”

-นักเรียนชนะเลิศการประกวดโครงงานคุณธรรม “สืบสานภูมิปัญญาล้านนา”ในระดับเขตพื้นที่  และได้เหรียญเงินในระดับประเทศ

-นักเรียนชนะเลิศการประกวดมารยาทไทยในระดับเขตพื้นที่ ได้เหรียญทองในระดับประเทศ ไดรองชนะเลิศอันดับ ๒  จากธนาคารธนชาติ

-นักเรียนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๒ ในการตอบปัญหาธรรมะในระดับจังหวัด  และขนะเลิศในระดับอำเภอ

 

     นักเรียนสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเล็กๆในโรงเรียน ร่วมวางแผนและหาแนวทางแก้ปัญหา โดยใช้สมาชิกในสังคมเป็นแนวร่วมลักษณะจิตอาสาโดยใช้กัลยณมิตร ที่นี้พอยกตัวอย่างการที่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔/๒ มองเห็นปัญหาเรื่องการทิ้งขยะไม่เป็นที่จึงร่วมกันวางแผนหาแนวทางแก้ปัญหาเช่นจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์  หาแนวร่วมหรือสมาชิกเพื่อให้มีส่วนร่วมและปลูกจิตสำนึกในการทิ้งขยะด้วยความสมัครใจและมีจิตอาสา ทั้งนี้ได้จัดทำโครงงานขึ้นมา  ๑  โครงงานภาใต้ชื่อที่ร่วมกันคิดว่า  “จิตอาสา  ตาวิเศษ  Comeback” จากการประเมินโครงงารประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจนักเรียนทิ้งขยะลงถังมากขึ้นถึงแม้จะไม่ทั้งหมดอย่างน้อยส่วนที่เหลือก็นับได้ว่าเป็นการจุดประกายการทำความดีให้แล้ว "การจัดทำโครงงานร่วมกันวางแผนและจัดป้ายประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์ให้นักเรียนทิ้งขยะลงถังขยะ"

 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารและครู

-ผู้บริหารได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ”คุรุสดุดี”ประเภทผู้บริหารสถานศึกษาจากคุรุสภา

-คณะครูได้รับรางวัล”คนดีศรีเชียงใหม่” “เกียรติยศวันครู” “Super  Teacher” 

 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน

-โรงเรียนได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำรุ่นที่ ๑๐ จากมหาวิทยาลับจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

-โรงเรียนได้รับรางวัล IQA  AWARD  จากเขตพื้นที่  และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน

 

ทั้งหมดนี้คือการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีที่เป็นผลจากการพัฒนานักเรียนโดยใช้ ๗ กิจวัตรความดีในรูปแบบบูรณาการที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตจริง  นับเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราชาว ครอบครัว สวร.และเรามักจะพูดวลีที่ติดปากอยู่เสมอเมื่อผลงานประสบความสำเร็จว่า

“สวร.เรารักกัน”

 

 

 

 

ขอขอบคุณเรื่องราวความภาคภูมิใจที่ได้เข้าร่วม

โครงการโรงเรียนรักษาศีล ๕  เชิงคุณภาพ  ครอบครัวอบอุ่น

โรงเรียนสันป่าตอง(สุวรรณราษฎร์วิทยาคาร)  สพป. เชียงใหม่ เขต ๔

จาก ผู้อำนวยการ นายสมัคร   มูลประการ

และ ครูผู้รับผิดชอบ นางจันทร์ฉาย   อินต๊ะผัด